ลักษณะ "เล็บ" บอกสุขภาพได้
ถ้าคุณอยากรู้ว่าตอนนี้สุขภาพของคุณเป็นอย่างไร ลองก้มลงมอง เล็บ ของตัวเองดู รู้หรือไม่ว่า ความเปลี่ยนแปลงของสีหรือลักษณะของเล็บสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้ร่างกายของคุณกำลังมีปัญหาหรือเปล่า และนี่คือความเปลี่ยนแปลงของเล็บที่คุณควรใส่ใจ
เล็บขาว
ถ้าเล็บเป็นสีขาวเกือบทั้งหมด หรือประมาณสองในสามส่วนของเล็บ อาจหมายถึงปัญหาโรคตับ เช่น โรคตับอักเสบ และโรคตับแข็ง นอกจากนี้ยังหมายถึงโรคเบาหวานและโรคหัวใจวายด้วย แต่หากเล็บสีขาวแต่นิ้วมือเป็นสีเหลืองอาจหมายถึงโรคดีซ่าน ซึ่งเกิดจากการที่ตับมีปัญหา ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง มักมีเล็บเป็นสีขาวครึ่งเล็บ ส่วนถ้ามีสีขาวเป็นแถบขวางบนเล็บ และเมื่อใช้มือกดที่เล็บ สีขาวจะจางลง อาจหมายถึงภาวะขาดโปรตีนในร่างกาย (Hypoalbuminemia)
เล็บสีซีด
เล็บสีซีดอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง เช่น โรคโลหิตจาง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคตับ หรืออาจจะแค่ขาดสารอาหารบางอย่างก็ได้
เล็บเหลือง
หนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการเล็บสีเหลือง คือการติดเชื้อรา ถ้าการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บอาจหดตัว และเล็บอาจหนาและงอ ในกรณีที่หาได้ยาก เล็บเหลืองอาจบ่งบอกถึงโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือโรคสะเก็ดเงิน เล็บเหลืองยังอาจเป็นสัญญาณของ Yellow Nail Syndrome ซึ่งอาการของโรคนี้อาจทำให้เล็บหนาขึ้น แต่ไม่ยาวขึ้นเหมือนอย่างปกติ หนังรอบเล็บอาจหายไป หรือโคนเล็บร่อนขึ้นมา ซึ่งอาการนี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคภายในหลายอย่าง เช่น การมีเนื้อร้ายในร่างกาย โรคของระบบทางเดินหายใจ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรืออาจมาจากการบมของต่มอน้ำเหลืองที่มือก็เป็นได้
เล็บสีน้ำเงินอมเขียว
ในกรณีนี้ ตัวเล็บจะไม่ได้เปลี่ยนสีโดยตรง แต่ที่เนื้อเยื่อบริเวณใต้โคนเล็บจะกลายเป็นสีน้ำเงินอมเขียวจางๆ อาการนี้เรียกว่า nail bed cyanosis ซึ่งอาจหมายถึงการที่ร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ รวมทั้งอาจบ่งบอกได้ว่าปอดมีปัญหา เช่น โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) หรือโรคหัวใจบางชนิด ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เล็บมีสีเช่นนี้ได้
ผิวเล็บขรุขระ
ถ้าผิวเล็บขรุขระ มีลักษณะเป็นรูหรือเป็นหลุม อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคข้ออักเสบ ซึ่งอาจพบการเปลี่ยนสีของเล็บร่วมด้วย โดยสีผิวใต้เล็บจะดูเป็นสีแดงอมน้ำตาล
เล็บแตกร่อน
เล็บที่แห้ง เปราะ แตกหรือร่อน อาจเชื่อมโยงกับโรคต่อมไทรอยด์ แต่ถ้าเล็บแตกร่อนและมีสีเหลืองร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อราในเล็บ
โคนเล็บบวม
ถ้าผิวรอบเล็บมีอาการบวมและแดง นี่บ่งบอกถึงอาการอักเสบเกิดของผิวหนังรอบเล็บ ซึ่งอาจเกิดจากโรคแพ้ภูมิตนเอง (Lupus) หรือความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวมถึงการติดเชื้อที่เป็นเหตุให้เกิดรอยแดง และการอักเสบบริเวณโคนเล็บ นอกจากนี้การสัมผัสกับน้ำบ่อยๆ อาจทำให้ผิวหนังรอบเล็บเปื่อยยุ่ย ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองจากสารเคมี เช่น สารเคมีจากน้ำยาทำความสะอาด
มีเส้นสีดำใต้ผิวเล็บ
หากมีเส้นสีดำใต้ผิวเล็บ ควรรีบไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด เนื่องจากอาจหมายถึงภาวะ Melanoma ซึ่งเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดที่อันตรายที่สุด หากสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งผิวหนัง ลักษณะเล็บจะเป็นเส้นสีดำ สีไม่สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว และผิวหนังที่โคนเล็บอาจมีสีดำด้วย
ผิวเล็บนูนโค้ง
อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อส่วนปลายของนิ้วขยายใหญ่ขึ้น จนเล็บโค้งงอที่บริเวณปลายนิ้ว ปกติจะใช้เวลาเป็นปีว่าจะเกิดอาการเช่นนี้ อาการเล็บโค้งบางทีก็บ่งชี้ถึงออกซิเจนในเลือดต่ำ และอาจเป็นสัญญาณของโรคปอดบางชนิด และยังอาจสัมพันธ์กับลำไส้อักเสบ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคตับ และเอดส์
ปลายเล็บมีวงสีคล้ำ
เป็นลักษณะของวงสีคล้ำที่ปลายเล็บ เรียกว่า Terry’s nails ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ก็อาจเกิดมาจากโรคบางอย่างก็ได้ อย่างเช่นโรคเบาหวาน โรคตับ หัวใจวาย
เล็บเว้า
เป็นลักษณะที่เล็บเว้าลงจนคล้ายรูปช้อน (Spoon nails หรือ koilonychia)ส่วนใหญ่แล้วอาการนี้เป็นสัญญาณของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือาจเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็คือเกิดจากโรคตับที่ทำให้มีภาวะเหล็กเกิน (hemochromatosis) เนื่องจากร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารที่กินมากเกินไป บางครั้งอาการนี้ก็สัมพันธ์กับโรคหัวใจ และไฮโปไทรอยด์ หรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์
เล็บเป็นร่อง
ลักษณะที่เกิดร่องขวางเล็บที่เรียกว่า Beau's lines เกิดขึ้นได้จากการที่การเติบโตของเล็บ ถูกรบกวนจากอาการบาดเจ็บหรืออาการเจ็บป่วยร้ายแรง เช่น เบาหวานกำเริบ อาการตีบของเส้นเลือดส่วนปลาย (peripheral vascular disease) หรือจากการมีไข้สูงเนื่องจากไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) โรคหัด คางทูม หรือนิวมอเนีย และยังอาจเป็นสัญญาณของการขาดธาตุสังกะสีก็เป็นได้
ปลายเล็บร่น
บางครั้งเล็บอาจแยกออกจากเนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ เรียกภาวะนี้ว่าภาวะปลายเล็บร่น (Onycholysis) ซึ่งส่งผลให้มีพื้นที่ว่างใต้เล็บ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์เป็นพิษ ติดเชื้อรา และโรคผิวหนังอักเสบ
แหล่งที่มา : https://www.sanook.com/health/12753/
แหล่งที่มา : https://www.sanook.com/health/12753/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น